ความหมายของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
คำว่า “การคิดวิจารณญาณ” มีผู้ใช้ชื่อภาษาไทยที่แตกต่างกันออกไป เช่นการคิดวิจารณญาณ (กันยา สุวรรณแสง, 2540; นิพนธ์ วงษ์เกษม, 2534 และกองวิจัยทางการศึกษา, 2541) และประเมินอย่างมีระบบมีเหตุผล เพื่อให้ได้แนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมหรือการคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ (ชูชีพ อ่อนโคกสูง, 2522 และสุณีย์ ธีรดากร, 2525) การคิดวิพากษ์วิจารณ์ (จารุวรรณา ภัทรนาวิน, 2532) เป็นต้น เนื่องจากการคิดวิจารณญาณเป็นกระบวนการทางสมองที่มีความซับซ้อน ดังนั้นเมื่อพิจารณาความหมายของการคิดวิจารณญาณที่มีผู้นิยามไว้จึงพบว่า นักจิตวิทยาการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาหลายคนได้ให้นิยามการคิดวิจารณญาณไว้หลายลักษณะที่แตกต่างกันไปตามทรรศนะของแต่ละบุคคลได้แก่
เดอ โบโน (DE Bono, 1976, pp.29 – 32) ให้แนวคิดว่า การนิยามความหมายของการคิดอย่างมี
วิจารณญาณมี 2 ลักษณะ คือ
1. คำนิยามที่มีความหมายกว้าง เป็นการนิยามในลักษณะที่เป็นกิจกรรมทางสมองที่เป็นกิจกรรมกระบวนการคิดที่เป็นกระบวนการคิด
2. คำนิยามที่มีความหมายแคบ เป็นคำนิยามการคิดอย่างมีวิจารณญาณในลักษณะที่เป็นเหตุผลทางตรรกศาสตร์ เป็นการประเมินผลของความคิดโดยมีหลักเกณฑ์เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจ
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ หมายถึง การคิดใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ซึ่งประกอบด้วย กระบวนการ และความสามารถ การมีเจตคติของการสืบค้นที่เกี่ยวข้องกับความสามารถที่จะรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้น และยอมรับว่าจำเป็นจะต้องมีหลักฐานในการสนับสนุนว่าสิ่งที่พิจารณานั้นเป็นจริงมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของการสรุปอ้างอิงอย่าสมเหตุสมผล และสิ่งที่เป็นนามธรรม โดยพิจารณาจากความเที่ยงตรงของหลักฐานชนิดต่าง ๆ ในเชิงตรรกะและมีทักษะในการใช้ความรู้และทัศนคติ นอกจากนี้ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ยังเป็นกิจกรรมที่จำเป็นในการแก้ปัญหาเมื่อต้องการตรวจสอบสมมุติฐานต่าง ๆ (Dewey, 1933, p.30; Skinner, 1976, pp.292 – 299; Watson and Glaser, 1964, p.1; Russellgx, 1965) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นศิลปะของการคิดเพื่อที่จะทำให้การคิดดีขึ้นชัดเจนขึ้น มีความแม่นตรงขึ้น หรือป้องกันตนเองมากขึ้น เป็นกระบวนการของการคิดอย่างมีเหตุผลที่คิดด้วยตนเอง เป็นการคิดอย่างรอบคอบตามหลักการของการประเมินและมีหลักฐานอ้างอิง เพื่อหาข้อสรุปที่น่าจะเป็นไปได้ ตลอดจนพิจารณาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และใช้กระบวนการตรรกวิทยา เป็นการคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการตัดสินใจ ว่าสิ่งใดควรเชื่อ หรือสิ่งใดควรทำ ช่วยให้ตัดสินใจสถานการณ์ได้ถูกต้องเป็นวิธีคิดอย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพ ก่อนตัดสินใจว่าจะเชื่ออะไร หรือไม่เชื่ออะไร ไม่รีบด่วนสรุป ตัดสินใจโดยไม่รั้งรอ (Paul, 1992, pp.40 – 47; Good, 1973, P.680) (Ennis, 1985, p.46; ประพันธ์ ศิริ สุเสารัจ, 2541, หน้า 37; อุษณี โพธิสุข, 2542, หน้า 967 – 968; Chaffee, 1994, p.14; Ennis, 1994, p.7 ; Halpern, 1987, p.75)
สรุปได้ว่า
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ หมายถึง กระบวนการคิดที่ผ่านกระบวนการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการคิดอย่างมี เป้าหมาย ตัดสินและกำกับได้ด้วยตนเอง เป็นผลมาจากการตีความ การวิเคราะห์ การประเมินข้อโต้แย้ง การสรุปอ้างอิง การอธิบายและการควบคุมตนเอง เพื่อให้เกิดผลของการคิดที่รอบคอบ สมเหตุสมผลเป็นกระบวนการที่ช่วยในการพิจารณาหาข้อผิดพลาดในการคิดโดยเฉพาะ
กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
การคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนประกอบด้วยการรับรู้ การละลึกถึงความรู้ ที่สะสมอยู่การผสมผสานความรู้ด้วยการย่อยข้อมูลและสร้างข้อมูลขึ้นมาใหม่ เพื่อหาคำตอบว่าความหมายของสิ่งที่คิดคืออะไร ซึ่งกระบวนการคิดผสมผสานความรู้จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่านมาและทักษะเฉพาะหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน (ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ และอุษา ชูชาติ, 2544, หน้า 32)
กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถสรุปได้ดังนี้
เดสเซล และเมย์ฮิว (Dessel and Mayhew, 1957, pp.179 – 181) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ดังนี้
1. ความสามารถในการนิยามปัญหา เป็นความสามารถในการวิเคราะห์ข้อความ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา แล้วสามารถบอกลักษณะของปัญหาที่เกิดได้ และการนิยามปัญหานั้นมีความสำคัญมากสำหรับการอ่านและการฟังเรื่องราวต่างๆ
2. ความสามารถในการเลือกข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เป็นความสามารถในการพิจารณาและเลือกข้อมูลเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง การพิจารณาความพอเพียงของข้อมูล การจัดระบบข้อมูล และความสามารถนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการคิดที่จะใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ และมีผลกับความสามารถในการมองเห็นว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง
3. ความสามารถในการตระหนักในข้อตกลงเบื้องต้น เป็นความสามารถในการพิจารณาแยกแยะข้อความใดเป็นข้อความเบื้องต้นและข้อความใดไม่ใช่ข้อความเบื้องต้นของข้อความหรือสถานการณ์ที่กำหนดให้แล้ว ความสามารถนี้มีความสำคัญเพราะว่าทำให้เห็นความแตกต่างของข้อมูลเพื่อลงความเห็นควรจะยอมรับหรือไม่
4. ความสามารถในการกำหนดและเลือกสมมุติฐาน เป็นความสามารถในการกำหนดหรือเลือกสมมุติฐานจากข้อความหรือสถานการณ์ให้ตรงกับปัญหาในข้อความหรือสถานการณ์นั้นๆ ความสามารถนี้มีความสำคัญเพราะทำให้มีความรอบคอบและมีความพยายามในการคิดถึงความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหาหรือความเป็นไปได้ของสมมุติฐาน
5. ความสามารถในการลงสรุปอย่างสมเหตุสมผล เป็นความสามารถในการคิดพิจารณาข้อความ ที่เป็นเหตุเป็นผลกัน โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่เป็นความสาเหตุและความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผลทั้งหมดเพื่อลงสรุปได้อย่างสมเหตุสมผล ความสามารถนี้มีความสำคัญเพราะทำให้สามารถลงความเห็นตามความจริงของหลักฐานหรือข้อมูลที่มีอยู่
เดอคาโรล (Decaroil, 1973, pp.67 – 68) เสนอกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณไว้ดังนี้
1. การนิยาม เป็นการกำหนดปัญหา ทำความตกลงเกี่ยวกับความหมายของคำและข้อความ และการกำหนดเกณฑ์
2. การกำหนดสมมติฐาน การคิดถึงความสัมพันธ์เชิงเหตุผล หาทางเลือกและการพยากรณ์
3. การประมวลผลข่าวสาร เป็นการระบุข้อมูลที่จำเป็นรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องหาหลักฐานและจัดระบบข้อมูล
4. การตีความข้อเท็จจริง และการสรุปอ้างอิงจากหลักฐาน
5. การใช้เหตุผล โดยระบุเหตุ และผลความสัมพันธ์เชิงตรรกศาสตร์
6. การประเมินผล โดยอาศัยเกณฑ์ความสมเหตุสมผล
7. การประยุกต์ใช้ หรือนำไปปฏิบัติ
แดเนียล และคนอื่นๆ (Danial and Others, 1984) ได้กล่าวถึงกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ไว้ว่า ประกอบด้วย
1. การวิเคราะห์ปัญหา และกำหนดทางแก้ (มากกว่าการด่วนสรุป)
2. การใช้ความรู้เก่าในสถานการณ์ใหม่
3. การใช้กระบวนการขจัดกรณี (Method of Elimination) ชี้นำสู่ข้อสรุป
4. เห็นความขัดแย้ง และความไม่คงเส้นคงวา
5. การให้เหตุผลเชิงนิรนัย
6. ตัดสินได้ว่าข้อมูลมีเพียงพอต่อการตัดสินใจหรือไม่
7. จำแนกได้ว่าการอ้างอิงเป็นไปได้ อาจเป็นไปได้หรือจำเป็นต้องเป็นไปตามนั้น
8. การให้เหตุผลเชิงอุปนัย
9. เรียนรู้ว่าการแก้ปัญหามีได้หลายทาง
10. สามารถหาจุดเริ่มต้นในลักษณะเข้าเค้าของเหตุผลในปัญหาที่ดูเหมือนจะแก้ไม่ได้
11. สามารถจัดระบบข้อมูลให้ง่ายต่อการใช้
12. เห็นแบบแผนการตรรกวิทยา
13. พิสูจน์โดยวิธีใช้ข้อขัดแย้ง
14. ตระหนักว่าปัญหาหนึ่งๆ อาจจะมีทางแก้หรือคำตอบมากกว่าหนึ่งคำตอบ
15. การให้เหตุผลเชิงอุปมาอุปไมย
16. รู้จักลองวิธีอะไรบางอย่างในกรณีที่ตรรกวิทยาช่วยอะไรไม่ได้ในการหาทางแก้ปัญหา
17. ชั่งใจว่าสารสนเทศที่ได้ควรเชื่อหรือไม่
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2549, หน้า 21) ได้เสนอว่า กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณประกอบด้วยกระบวนการดังต่อไปนี้
1. การนิยามปัญหา หมายถึง การกำหนดปัญหาและทำความเข้าใจกับปัญหาโดยพิจารณาเพื่อกำหนดปัญหาข้อโต้แย้งหรือข้อมูลที่คลุมเครือ รวมทั้งการนิยามความหมายของคำหรือข้อความ ปัญหาเป็นสิ่งเร้าที่เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
2. การรวบรวมข้อมูล หมายถึง การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ข้อโต้แย้งหรือข้อมูลที่คลุมเครือจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งการดึงข้อมูลหรือความรู้จากประสบการณ์เดิมที่มีอยู่มาใช้ ดังนั้นวิธีการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการคิดอย่างมีวิจารณญาณได้แก่ การสังเกต ทั้งการสังเกตด้วยตนเองและการรวบรวมข้อมูลจาการรายงานผลการสังเกตของผู้อื่น
3. การจัดระบบข้อมูล หมายถึง การพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลพิจารณาความเพียงพอ ของข้อมูล และการจัดระบบของข้อมูล ขณะเดียวกันก็ต้องประเมินความถูกต้องและความเพียงพอของข้อมูลที่รวบรวมได้ว่าจะนำไปสู่การอ้างอิงได้หรือไม่ มีการจัดระบบข้อมูลที่รวบรวมได้โดยแยกแยะความแตกต่างของข้อมูลคือ จำแนกความแตกต่าง ระหว่างข้อมูลที่ชัดเจนกับข้อมูลที่คลุมเครือ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหา การระบุข้อตกลงเบื้องต้น เพื่อนำมาจัดกลุ่ม และจัดลำดับความสำคัญของข้อมูลเพื่อใช้เป็นแนวทางในการตั้งสมมติฐาน
4. การตั้งสมมติฐาน หมายถึง การพิจารณาแนวทางการสรุปอ้างอิงของปัญหาข้อโต้แย้งโดยการนำข้อมูลที่มีการจัดระบบแล้วมาพิจารณาเชื่อมโยง หาความสัมพันธ์ เพื่อกำหนดแนวทางการสรุปที่น่าจะเป็นไปได้ว่า จากข้อมูลที่ปรากฏสามารถเป็นไปได้ในทิศทางใดบ้าง เพื่อที่จะได้พิจารณาเลือกแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุด
5. การสรุปอ้างอิงโดยใช้หลักตรรกศาสตร์ หมายถึง การพิจารณาเลือกแนวทางที่สมเหตุสมผลที่สุดจากข้อมูลและหลักฐานที่มีอยู่ การใช้เหตุผลเป็นทักษะวิธีการคิดที่จำเป็นต่อการตัดสินใจสรุป และเป็นทักษะการคิดที่สำคัญของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ดังนั้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณจึงจำเป็นต้องใช้เหตุผลที่ดีเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผลและคุณลักษณะของการคิดอย่างมีวิจารณญาณมีความสัมพันธ์กับการใช้เหตุผลแบบตรรกศาสตร์หรือใช้เหตุผลแบบอุปมานและอนุมาน
6. การประเมินสรุปอ้างอิง หมายถึง การประเมินความสมเหตุสมผลของการสรุปอ้างอิงหลังจากการตัดสินใจสรุปโดยใช้หลักตรรกศาสตร์ จะต้องประเมินข้อสรุปอ้างอิงว่าสมเหตุสมผลหรือไม่รวมทั้งพิจารณาว่าข้อสรุปนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือไม่ ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ถ้าข้อมูลที่ได้รับมีการเปลี่ยนแปลงและค้นพบข้อมูลเพิ่มเติมต้องกลับไปรวบรวม ข้อมูลที่มีอยู่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อตั้งสมมติฐานและข้อสรุปอ้างอิงใหม่ สรุปได้ว่ากระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นกระบวนการที่ผสมผสานความสามารถในด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาโดยพิจารณาเพื่อทำความชัดเจนว่าอะไร คือปัญหาที่แท้จริง ข้อโต้แย้งหรือข้อมูลที่คลุมเครือ การหา การรวบรวมประเด็นปัญหา ทำความชัดเจนว่าอะไรเป็นตัวปัญหาที่แท้จริง การจัดลำดับปัญหา การกำจัดปัญหาที่อาจไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงออกไป การแยกประเด็นปัญหา รวมทั้งการนิยามความหมายของคำหรือข้อความ การนิยามปัญหาเป็นกระบวนการที่เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นการกระตุ้นให้บุคคลเริ่มต้นคิดเมื่อตระหนักว่ามีปัญหาหรือข้อโต้แย้งหรือได้รับข้อมูลข่าวสารที่คลุมเครือ จะพยายามหาคำตอบที่เหมาะสม สมเหตุสมผลเพื่อทำความเข้าใจกับปัญหานั้น
โดยสามารถสรุปเป็นรูปแบบการสอนโดยทฤษฎีระบบดังนี้
ตัวป้อน กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ผลผลิต
- ปัญหา
1. ความสามารถในการนิยามปัญหา ข้อสรุปที่สมเหตุสมผล
- ข้อโต้แย้ง
2. ความสามารถในการเลือกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา
- ข้อมูลที่คลุมเครือ
3. ความสามารถในการตระหนักในข้อตกลงเบื้องต้น
4. ความสามารถในการกำหนดและเลือกสมมุติฐาน
5. ความสามารถในการลงสรุปอย่างสมเหตุสมผล
ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
ในการศึกษาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณได้ดำเนินการศึกษาแนวคิดของนักวิชาการ และศึกษาจากแบบวัดมาตรฐาน ดังนี้
แนวคิดของ
ปีเตอร์ เอ ฟาซิออง (Peter A.Facione) ปีเตอร์ เอ ฟาซิออง (Peter A.Facione, 1990: 6 -11) ได้สรุปไว้ในรายงาน การคิดวิจารณญาณ: แถลงการณ์จากของผู้เชี่ยวชาญในวัตถุประสงค์ในการประเมินผลการศึกษา และแนวการดำเนินการ จากการประเมินผลโครงการเดลไฟ (Delphi Report) พบว่า การคิดอย่างมีวิจารณญาณ มี
ทักษะ 6 ประการ คือ
ทักษะ ทักษะย่อย
การตีความ การจัดหมวดหมู่
การแปลความหมาย
การทำความหมายให้ชัดเจน
การวิเคราะห์ การตรวจสอบความคิด
การระบุข้อโต้แย้ง
การวิเคราะห์ข้อโต้แย้ง
การประเมินผล การประเมินข้ออ้าง
การประเมินข้อโต้แย้ง
การสรุปอ้างอิง การสงสัยในหลักฐาน
การคาดคะเนทางเลือก
การลงข้อสรุป
การอธิบาย การระบุผลที่เกิดขึ้น
การตัดสินกระบวนการ
การเสนอข้อโต้แย้ง
การควบคุมตนเอง การตรวจสอบตนเอง
การแก้ไขด้วยตนเอง
ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
1. การตีความเพื่อเข้าใจและบอกความหมายหรือความสำคัญในความหมายหรือ คำจำกัดความที่กว้างและหลากหลาย ในด้านประสบการณ์ สถานการณ์ ข้อมูลเหตุการณ์ การตัดสิน การประชุม ความเชื่อ กฎ พฤติกรรม หรือกฎเกณฑ์ โดยแบ่งเป็น
1.1 การจัดหมวดหมู่
1.1.1 เพื่อเข้าใจและแยกแยะลำดับขั้นของกฎเกณฑ์ความชัดเจน โครงสร้างสำหรับความเข้าใจ การพรรณนาหรือการแสดงข้อมูลคุณลักษณะ
1.1.2 เพื่อพรรณนา ประสบการณ์ สถานการณ์ ความเชื่อ สถานการณ์ เพื่อให้เข้าใจความหมาย ความเหมาะสม ความชัดเจนของ กลุ่ม หรือโครงสร้าง
1.2 การแปลความหมาย
เพื่อสืบค้นรวบรวม และอธิบาย แหล่งข้อมูล ความหมายด้านความรู้สึก คำสั่งทำงาน ความตั้งใจ แรงจูงใจ จุดประสงค์ ความสำคัญทางสังคม คุณค่า ความเห็น กฎ พฤติกรรม กฎเกณฑ์ หรือความสัมพันธ์ของการประชุมระบบการสื่อสาร เช่นภาษา พฤติกรรมทางสังคม การวาด เลข กราฟ ตาราง แผนภูมิ เครื่องหมายและสัญลักษณ์
1.3 การทำความหมายให้ชัดเจน
1.3.1 เพื่อถอดความ หรือทำให้ชัดเจน การระบุ พรรณนา การเปรียบเทียบหรือการอุปมา อธิบายเนื้อความ ระเบียบแบบแผน หรือความหมายของคำ แนวความคิด ความคิดรวบยอด แถลงการณ์ พฤติกรรม การบรรยาย จำนวน เครื่องหมาย แผนภูมิ กราฟ สัญลักษณ์ กฎ เหตุการณ์หรือพิธีการ
1.3.2 เพื่อใช้การระบุ คำพรรณนา การเปรียบเทียบหรือการแสดงออกเชิงอุปมาเพื่อขจัดความยุ่งยาก ความคลุมเครือที่ไม่ตั้งใจหรือกำกวม หรือเพื่อออกระเบียบการกระทำ
2. การวิเคราะห์ เพื่อระบุความสัมพันธ์ระหว่าง แถลงการณ์ คำถาม แนวความคิด คำพรรณนาหรือรูปแบบอื่นๆของการนำเสนอที่ต้องการให้เกิดความเชื่อใน การตัดสินใจ ประสบการณ์ เหตุผล คำแนะนำ หรือความเห็น
2.1 การตรวจสอบความคิด
2.1.1 เพื่อกำหนดการแสดงออกต่างๆ บทบาทการเล่นหรือได้ความตั้งใจในเนื้อความของการอภิปราย การให้เหตุผลหรือความคิดเห็น
2.1.2 เพื่อกำหนดข้อตกลง
2.1.3 เพื่อเปรียบเทียบหรือเทียบเคียงความคิด แนวความคิด หรือแถลงการณ์
2.1.4 เพื่อระบุประเด็นหรือปัญหาและกำหนดองค์ประกอบต่างๆ และยังระบุความสัมพันธ์ของแนวคิดขององค์ประกอบต่างๆของสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือทั้งหมด
2.2 การระบุข้อโต้แย้ง
ให้ชุดของแถลงการณ์ คำพรรณนา คำถามหรือการนำเสนอ เพื่อกำหนดสิ่งที่บอกว่าใช่ หรือไม่ หรือได้ความตั้งใจที่จะบอก เหตุผลในสนับสนุนหรือโต้แย้งการเรียกร้อง ความเห็นหรือจุดสำคัญ
2.3 การวิเคราะห์ข้อโต้แย้ง
ให้เหตุผลเพื่อสนับสนุนหรือโต้แย้ง ข้อเสนอ ความเห็นหรือจุดสำคัญ เพื่อระบุความแตกต่างกัน
3. การประเมินผล เพื่อกำหนดความน่าเชื่อถือ แถลงการณ์หรือการนำเสนออื่นๆคำอธิบายหรือ การรับรู้ของบุคคล ประสบการณ์ สถานการณ์ การตัดสิน ความเชื่อ หรือความเห็น และเพื่อกำหนดความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ แถลงการณ์ การอธิบาย คำถามหรือรูปแบบอื่นๆของการนำเสนอ
3.1 การประเมินข้ออ้าง
3.1.1 เพื่อรับรองประเด็นหรือระดับความน่าเชื่อถือในเหตุผลของข้อมูลหรือความเห็น
3.1.2 เพื่อกำหนดประเด็นคำถาม คำแนะนำ หลักการ กฎ หรือทิศทางของพฤติกรรม
3.1.3 เพื่อกำหนดการยอมรับ ระดับความเชื่อมั่นของความน่าจะเป็นหรือความจริงของการนำเสนอประสบการณ์ สถานการณ์ การตัดสิน ความเชื่อหรือความเห็น
3.2 การประเมินข้อโต้แย้ง
3.2.1 เพื่อตัดสินการโต้เถียงที่ได้แสดงว่าถูกต้อง ยอมรับว่าเป็นจริง แค่ไหน
3.2.2 เพื่อคาดว่าคำถามหรือการทักท้วง จะมีจุดอ่อนในการโต้แย้งหรือประเมินค่า
3.2.3 เพื่อกำหนดหรือคาดการว่าข้อโต้แย้งนั้นมีผลกระทบอย่างไร
3.2.4 เพื่อตัดสินระหว่างเหตุผล กับความผิดพลาดในการลงความเห็น
3.2.5 เพื่อตัดสินความเป็นไปได้ของข้อโต้แย้ง
3.2.6 เพื่อกำหนดและตัดสินข้อโต้แย้ง
3.2.7 เพื่อกำหนดขอบเขตของความเป็นไปได้ของจุดเด่นและด้อยของข้อโต้แย้ง
4. การสรุปอ้างอิง เพื่อระบุและสร้างความมั่นใจในการสรุปเหตุผลจากสมมุติฐานคำแนะนำตรง และข้อมูล แถลงการณ์ หลักการ พยานหลักฐาน การตัดสิน ความเชื่อ ความเห็น แนวความคิด คำอธิบาย คำถาม หรือการนำเสนอในรูปแบบอื่นๆ
4.1 การสงสัยในหลักฐาน
4.1.1 รายละเอียด การสนับสนุน ยุทธศาสตร์ และการประชุม คำแนะนำ
4.1.2 การตัดสินคำแนะนำนั้นตรงประเด็นเพื่อการตัดสินใจ สามารถรับได้ มีเหตุผล หรือคุณค่าความเกี่ยวข้องของหัวข้อที่ให้ คำถาม ปัญหา ทฤษฎี สมมติฐาน หรือข้อมูลที่ต้องการ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์
4.2 การคาดคะเนทางเลือก
4.2.1 เพื่อกำหนดหัวข้อการสรุปหลักฐานข้อสมมุติเกี่ยวกับคำถาม สมมุติฐานของเหตุการณ์
4.2.2 เพื่อสรุปสมมุติฐานและแสดงผลที่เป็นไปได้ของการตัดสินใจตำแหน่ง นโยบาย ทฤษฎี หรือความเชื่อ
4.3 การลงข้อสรุป
4.3.1 เพื่อใช้สติปัญญาในการกำหนดตำแหน่ง ความคิด การมองเห็น ของเรื่องราวหรือปัญหา
4.3.2 ให้ชุดของข้อมูลคำพรรณนาคำถามหรือรูปแบบของการนำเสนออื่นๆ ให้เหมาะสมกับระดับเหตุผล ความสัมพันธ์ และผลที่ตามมาหรือ สมมุติฐาน ที่สนับสนุน การรับประกัน ความเห็นหรือการวางเงื่อนไข
4.3.3 เพื่อใช้เหตุผลที่สำเร็จเป็นแนวทางในการสรุป เหตุผลที่คล้ายกันความสมเหตุ สมผล ทางตัวเลข ท้องถิ่น ทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
4.3.4 เพื่อการลงข้อสรุปที่เป็นไปได้หลายทาง โดยการสนับสนุนจากหลักฐานที่พบ
5. การอธิบาย การเล่าเหตุผลของคนอื่น ๆเพื่อแสดงว่าถูกต้องตาม แนวคิด ทฤษฎี หลักเกณฑ์ และการพิจารณาอธิบายเนื้อความ บนพื้นฐานผลของการ
5.1 การระบุที่เกิดขึ้น
เพื่อการสรุปผลที่แน่นอน การอธิบายหรือการนำเสนอผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ การประเมินผล ลงความเห็น หรือแสดงผลลัพธ์
5.2 การให้เหตุผลในกระบวนการ
เพื่อแสดงผลอย่างชัดแจ้งใน แนวคิด ทฤษฎี การพินิจพิเคราะห์ และการพิจารณาคำอธิบายเนื้อความ ซึ่งบุคคลใช้ในการตีความวิเคราะห์ ประเมินค่า หรือแสดง เพื่อให้การบันทึก ประเมินค่า อธิบาย หรือการตัดสิน กระบวนการเหล่านั้น หรือเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องทั่วไป ทำให้กระบวนการเหล่านั้นสำเร็จ
5.3 การเสนอข้อโต้แย้ง
5.3.1 เพื่อให้เหตุผลสำหรับการยอมรับข้ออ้าง
5.3.2 เพื่อการพบทฤษฎี แนวความคิด หลักฐาน กฎเกณฑ์หรือข้อมูล วิเคราะห์แยกแยะหรือประเมินค่าการตัดสิน
6. การควบคุมตนเอง การควบคุมตนเองเพื่อแสดงความรู้ความเข้าใจ ในกิจกรรม และผลลัพธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการประยุกต์ความชำนาญในการวิเคราะห์และประเมินค่าการตัดสินกับมุมมอง กับการถาม การยืนยัน การใช้ได้ หรือความถูกต้องของเหตุผล หรือ ผลลัพธ์.
6.1 การตรวจสอบตนเอง
6.1.1 เพื่อสะท้อนเหตุผลและพิสูจน์ ทั้ง ผลลัพธ์และความถูต้องของการใช้เหตุผลและความเกี่ยวพันกันของความรู้
6.1.2 เพื่อสร้างวัตถุประสงค์และการประเมินความรู้ของตนเองอย่างมีเหตุผล
6.1.3 เพื่อตัดสินความมีอิทธิพลทางความคิดของบุคคลหนึ่งที่มีต่อความรู้ของอีกคนหนึ่ง หรือโดยข้อความที่เลียนแบบมา ความลำเอียง อารมณ์หรือปัจจัยอื่นใดซึ่งมีผลต่อวัตถุประสงค์และเหตุผล
6.1.4 เพื่อสะท้อนแรงจูงใจ ค่านิยม ทัศนคติและความสนใจกับมุมมอง ที่ไม่ลำเลียงไม่เข้าข้าง เป็นธรรม ความรังเกียจ วัตถุประสงค์ ให้ความนับถือของความจริง มีเหตุผลและเหตุผลจากการวิเคราะห์ การตีความ ประเมินค่า การแสดง หรือการแสดงออก
6.2 การแก้ไขด้วยตัวเอง
แนวคิดของ เอนนิส (Ennis R.H.)
เอนนิส (Ennis, 1985, pp.45) ได้กล่าวถึง ลักษณะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ดังนี้
1. หาข้อความ วิทยานิพนธ์หรือคำถามที่ชัดเจน
2. หาเหตุผล.
3. พยายามหาข้อมูลที่ดี
4. ใช้ข้อมูลน่าเชื่อถือและอ้างอิงได้
5. พิจารณาสถานการณ์โดยรวม
6. พยายามมุ่งประเด็นหลัก
7. จดจำความรู้พื้นฐานไว้
8. สร้างทางเลือก
9. เปิดใจกว้าง
10. แสดงจุดยืนเมื่อพยานหลักฐานและเหตุผลพอเพียง
11. หาความชัดเจนให้มากที่สุด
12. ดำเนินการไปตามลำดับขั้นตอนจากส่วนต่าง ๆ ของความซับซ้อนทั้งหมด
13. มีความรู้สึกไวต่อระดับความรู้และการอ้างเหตุผลของผู้อื่น
แนวคิดของอัลฟาโร เลอแฟร์ (Alfaro Lefevre)
อัลฟาโร เลอแฟร์ (Alfaro Lefevre.1994:10) สรุปลักษณะของการคิดอย่างมีวิจารณญาณไว้ว่า
1. มีความรอบรู้เกี่ยวกับความเชื่อ ความลำเอียง และอคติต่าง ๆ
2. มีความเชื่อมั่น ความกระตือรือร้น และมีเจตคติที่ดีต่อคำถาม
3. มีทักษะในการสื่อสารที่ดี เมื่อมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การทำความเข้าใจข้อเท็จจริง และการแสวงหาทางเลือก
4. มีใจเปิดกว้าง ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากตน และตัดสินใจเมื่อมีหลักฐานเชื่อถือได้
5. รู้จักถ่อมตัวและยอมรับความจริงว่าไม่มีใครรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
6. มีการคิดเชิงรุก เน้นป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา
7. มีระบบที่ดีในการแก้ปัญหาและตัดสินใจ
8. มีความยืดหยุ่น รู้จักปรับเปลี่ยนวิธีการและทางเลือกเมื่อมีเหตุผลใหม่ที่ดีพอ
9. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักตรรกศาสตร์ รู้จักค้นหาหลักฐาน และรู้จักประเมินความเสี่ยง หรือผลที่ได้รับก่อนลงมือปฏิบัติ
10.ยอมรับว่า คำตอบที่ดีที่สุดไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์ที่สุด
11.การรู้จักสร้างสรรค์ และผูกพันกับสิ่งที่ดีเลิศ เพื่อหาทางเลือกในการปรับปรุงตนเองและปรับปรุงงาน
แนวคิดของซัททัน และเอนนิส (Sutton R.E.and Ennis R.H.)
ซัททัน และเอนนิส (Sutton and Ennis, 1985) ได้กล่าวถึงทักษะของการคิดอย่างมีวิจารณญาณดังนี้
1. การวิเคราะห์ข้อโต้แย้ง
1.1 การสรุปอ้างอิง
1.2 การเข้าใจโครงสร้างข้อโต้แย้ง
2. การตัดสินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล
2.1 การประยุกต์เกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบ
2.2 การให้น้ำหนักและความสอดคล้องของเกณฑ์กับสถานการณ์
3. การสังเกตและการตัดสินรายงานที่เกิดจากการสังเกต
3.1 การใช้เกณฑ์ของความน่าเชื่อถือ
3.2 การใช้เกณฑ์อื่น ๆ
4. การนิรนัยและการตัดสินการนิรนัย
4.1 หลักการเบื้องต้น
4.2 เนื้อหาสาระ
4.3 ความซับซ้อน
5. การอุปนัยและการตัดสินการอุปนัย
5.1 การสรุปอ้างอิงทั่ว ๆ ไป
5.2 การอธิบายข้อสรุปและสมมุติฐานที่ดีที่สุด
6. การตัดสินคุณค่า
6.1 ข้อเท็จจริงเบื้องต้น
6.2 ผลที่จะตามมา
6.3 การยอมรับข้อตกลงเบื้องต้น
7. การนิยามและการตัดสินคำจำกัดความ
7.1 รูปแบบการใช้
7.2 หน้าที่ของคำที่ใช้
8. การระบุข้อตกลงเบื้องต้น
8.1 เหตุผลที่ไม่ได้นำมาอ้างอิง
8.2 ข้อตกลงเบื้องต้นที่จำเป็น
8.3 ข้อสมมุติล่วงหน้า
9. การอภิปราย
9.1 ความกระจ่างในการใช้คำถาม
9.2 การแสดงจุดยืน
9.3 การให้เหตุสนับสนุนหรือคัดค้าน
9.4 การมีความรู้สึกไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น
10. การนำเสนอข้อโต้แย้งทั้งการพูดและการเขียน
10.1 การมุ่งจุดสนใจที่ผู้ฟัง
10.2 รูปแบบการนำเสนอ