แนวคิดทฤษฎีที่ใช้
แมคคาร์ธี (Mc Carthy) ได้พัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบวัฏจักรการเรียนรู้ 4 MAT นี้ โดยได้รับอิทธิพลแนวคิดจากทฤษฎีการเรียนรู้ของคอล์ม (Kolb) ที่เสนอแนวความคิดเรื่องรูปแบบการเรียนรู้ว่า การเรียนรู้เกิดจากความสัมพันธ์ 2 มิติ คือ การรับรู้ (perception) และกระบวนการจัดการข้อมูล (processing) การรับรู้ของบุคคลอาจเป็นประสบการณ์ตรง อาจเป็นความคิดรวบยอดหรือมโนทัศน์ที่เป็นนามธรรม ส่วนกระบวนการจัดกระทำกับข้อมูลคือการลงมือปฏิบัติ ในขณะที่บางคนเรียนรู้โดยผ่านการสังเกต และนำข้อมูลนั้นมาคิดอย่างไตร่ตรอง แมคคาร์ธีแบ่งผู้เรียนออกเป็น 4 แบบ คือ 1) ผู้เรียนที่ถนัดการเรียนรู้โดยจินตนาการ(Imaginative Learners) 2) ผู้เรียนที่ถนัดการรับรู้มโนทัศน์ที่เป็นนามธรรม นำกระบวนการสังเกตอย่างไตร่ตรอง หรือเรียกว่าผู้เรียนที่ถนัดการวิเคราะห์ (Analytic Learners) 3)ผู้เรียนที่ถนัดการรับรู้มโนทัศน์แล้วผ่านกระบวนการลงมือทำหรือที่เรียกว่าผู้เรียนที่ถนัดการใช้สามัญสำนึก (Commonsense Learners) และ 4) ผู้เรียนที่ถนัดการรับรู้จากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมและนำสู่
ลักษณะการพัฒนารูปแบบ
แมคคาร์ธี และคณะ (ศักดิ์ชัย นิรัญทวี และไพเราะ พุ่มมั่น, 2542) ได้นำแนวคิดของคอล์ม มาประกอบกับแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานของสมองทั้ง 2 ซีก ทำให้เกิดเป็นแนวคิดทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้คำถามหลัก 4 คำถาม กับผู้เรียน 4 แบบ คือ
- ผู้เรียนแบบที่ 1 (Imaginative Learners) คือ ผู้เรียนที่มีความถนัดในการรับรู้จากประสบการณ์รูปธรรม ผ่านกระบวนการจัดข้อมูลด้วยการสังเกตอย่างไตร่ตรอง เขาจะเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับประสบการณ์เดิมของตนเองได้อย่างดี การเรียนแบบร่วมมือ การอภิปรายและการทำงานกลุ่มจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนกลุ่มนี้ คำถามนำทางสำหรับผู้เรียนกลุ่มนี้คือ “ทำไม” (Why ?)
- ผู้เรียนแบบที่ 2 (Analytic Learners) คือ ผู้เรียนที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์จะสามารถเรียนรู้ความคิดรวบยอดที่เป็นนามธรรมได้เป็นอย่างดี ผู้เรียนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับความรู้ที่เป็นทฤษฎี รูปแบบ และความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ การอ่าน การค้นคว้าข้อมูลจากตำราหรือเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งการเรียนรู้แบบบรรยาย จะส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนเหล่านี้ คำถามนำทางสำหรับผู้เรียนในกลุ่มนี้คือ “อะไร” (What ?)
- ผู้เรียนแบบที่ 3 (Commonsense Learners) คือ ผู้เรียนที่มีความสามารถ/มีความถนัดในการรับรู้ความคิดรวบยอดที่เป็นนามธรรมแล้วนำสู่การลงมือปฏิบัติ เขาให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ความรู้ ความก้าวหน้า และการทดลองปฏิบัติ กิจกรรมที่เน้นการปฏิบัติและกิจกรรมการแก้ปัญหาจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนในกลุ่มนี้ คำถามนำทางสำหรับผู้เรียนในกลุ่มนี้คือ “อย่างไร” (How ?)
- ผู้เรียนแบบที่ 4 (Dynamic Learners) คือ ผู้เรียนที่มีความถนัดในการเรียนรู้ ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมแล้วนำสู่การลงปฏิบัติ เขาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เป็นการสำรวจ ค้นคว้า การค้นพบด้วยตนเอง แล้วเชื่อมโยงความรู้เหล่านั้นไปสู่การทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง คำถามนำทางสำหรับผู้เรียนในกลุ่มนี้คือ “ถ้า” (If ?)
จากลักษณะของผู้เรียนทั้ง 4 แบบดังกล่าวข้างต้น Morris และ Mc Cathy ได้นำมาเป็นแนวคิดพื้นฐานที่ใช้ในการพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบโฟร์แม็ทซิสเต็ม โดยจัดขั้นตอนการสอนให้ผู้เรียนสามารถใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาอย่างเต็มที่เป็นการพัฒนาพหุปัญหาทั้ง 8 ด้าน
ขั้นตอนการจัดกระบวนการเรียนรู้
- การเตรียมการจัดกระบวนการเรียนรู้
1.การบูรณาการประสบการณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งของตนเองเป็นการให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์อย่างเป็นรูปธรรมไปสู่การสังเกต คิดวิเคราะห์อย่างไตร่ตรอง ผู้สอนกระตุ้นสร้างแรงจูงใจโดยสร้างคำถาม สร้างความเร้าใจ อภิปราย
2.การสร้างความคิดรวบยอดผู้สอนเตรียมข้อมูลให้ข้อมูลให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงประสบการณ์ข้อมูล หลักการมาคิดวิเคราะห์อย่างไตร่ตรอง
3. การเรียนรู้โดยการปฏิบัติอย่างเฉพาะตัว ผู้สอนคือโค้ช อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ
- การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 8 ขั้นตอน เป็นการตอบสนองพัฒนาการด้านสมองของผู้เรียนที่มีรูปแบบการเรียนที่แตกต่างกัน 4 แบบ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนทั้ง 4 แบบ มีความสุข พึงพอใจในการเรียนและมีโอกาสประสบผลสำเร็จในการเรียนตามวิธีหรือแบบการเรียนของตนเอง ซึ่งอธิบายรายละเอียดของขั้นตอนการจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบ 4 MAT ของแมคคาร์ธี หรือไม่
การจัดกระบวนการเรียนรู้ 8 ขั้นตอนของวัฏจักรการเรียนรู้ (4 MAT) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 การบูรณาการประสบการณ์ให้เป็นส่วนของตนเอง
เป็นช่วงที่ผู้เรียนใช้ประสบการณ์อย่างเป็นรูปธรรมไปสู่การสังเกตคิดวิเคราะห์อย่างไตร่ตรอง บทบาทของครูเป็นผู้กระตุ้นสร้างแรงจูงใจวิธีการ คือ การสร้างคำถาม สร้างความเร้าใจ การอภิปราย การให้ผู้เรียนทำกิจกรรม การออกไปพบของจริง ในส่วนนี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 ขั้นสร้างประสบการณ์
เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะเชื่อมโยงประสบการณ์ด้วยตนเองทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าสิ่งที่จะเรียนนั้นมีความหมายโดยตรงกับตัวเขาเอง โดยการให้ผู้เรียนได้สัมผัส ได้เกิดความรู้สึก ได้ซักถามหรือได้ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่กำหนดจะเรียน ผู้สอนอาจใช้กิจกรรม เกม การออกไปสัมผัสกับของจริง การตั้งคำถามให้คิด หรือให้จินตนาการ เป็นขั้นที่เน้นการใช้สมองซีกขวา
ทักษะที่สำคัญในช่วงนี้ คือ ทักษะการสังเกต ทักษะการตั้งคำถาม ทักษะการสร้างมโนภาพ ตลอดจนทักษะในการร่วมกิจกรรมกลุ่ม
ขั้นที่ 2 ขั้นวิเคราะห์ประสบการณ์
กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจและอยากรู้ เด็กจะใช้สมองซีกซ้ายวิเคราะห์ต่อจากขั้นที่ 1 เป็นขั้นที่เด็กต้องหาเหตุผลเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้รับในขั้นแรก เด็กจะช่วยกันอภิปราย และอธิบายให้เหตุผลตามความคิดเห็นของผู้เรียนแต่ละคน
ทักษะที่สำคัญในช่วงนี้ คือ ทักษะในการวินิจฉัย วิเคราะห์อภิปรายในขั้นนี้ ผู้สอนอาจใช้เทคนิคการอภิปราย เทคนิคการเขียนผังความคิด (Mind Mapping) และวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เขารู้ ผู้เรียนต่างก็มีความสุขสนุกมากที่ได้มีโอกาสคิดและผู้สอนก็จะพบว่าสิ่งที่ผู้เรียนระดมความคิดเป็นเรื่องดีและเด็กสามารถคิดได้เอง
ส่วนที่ 2 การสร้างความคิดรวบยอด
ในการเรียนรู้ในขั้นตอนการเชื่อมโยงประสบการณ์ ข้อมูล หลักการ มาคิดวิเคราะห์อย่างไตร่ตรอง เพื่อสร้างความคิดรวบยอด บทบาทของครู ผู้เตรียมข้อมูล ให้ข้อมูล สาธิตวิธีการ ให้ผู้เรียนค้นคว้า หาข้อสรุป ในส่วนนี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 3 ขั้นปรับประสบการณ์เป็นความคิดรวบยอด
ขั้นนี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์และไตร่ตรองความรู้ที่ได้จากขั้นแรก เชื่อมโยงกับทฤษฎีให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจนสามารถที่จะเรียนรู้ต่อไปได้เป็นขั้นตอนที่ต้องจัดกิจกรรมให้เด็กทำแล้วสร้างความคิดรวบยอดเป็นของตนเองได้ เป็นขั้นที่ต้องใช้สมองซีกขวา
ทักษะที่สำคัญในช่วงนี้คือ ทักษะการสร้างรูปแบบการจัดกระบวนการวิเคราะห์ การจัดลำดับความสัมพันธ์ การจัดประสบการณ์เปรียบเทียบ
ขั้นที่ 4 พัฒนาความคิดด้วยข้อมูล
เป็นขั้นที่ให้ข้อมูลรายละเอียดเพื่อทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจ จนสร้างความคิดรวบยอดเรื่องที่เรียนได้ เน้นการใช้สมองซีกซ้าย ผู้สอนควรหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลความรู้ด้วยการบรรยาย ควรใช้วิธีอื่นแทน เช่น การให้ผู้เรียนค้นคว้า ทดลอง สาธิตให้ผู้เรียนรู้จักวิทยากรท้องถิ่น
ทักษะสำคัญในช่วงนี้คือ ความสัมพันธ์ การจัดลำดับ การทดลอง การสรุปความ
ส่วนที่ 3 การปฏิบัติการเรียนรู้ตามลักษณะเฉพาะตัว
กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเคลื่อนไหวจากขั้นสร้างความคิดรวบยอดมาสู่การลงมือกระทำ หรือลงมือทดลองตามความคิดของผู้เรียน บทบาทของครู คือ โค้ช (Coach)หรือผู้ให้คำแนะนำ ผู้อำนวยการความสะดวก ผุ้ให้ความช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง วิธีการ ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติในส่วนนี้แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน
ขั้นที่ 5 ทำตามแนวคิดที่กำหนด
ผู้เรียนจะทำตามใบงานหรือคู่มือหรือแบบฝึกหัดหรือทำตามขั้นตอนที่กำหนด เน้นการใช้สมองซีกซ้าย
ทักษะที่ใช้ในช่วงนี้ คือ ทักษะการถาม การสำรวจ การเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์การทดลอง การลองผิดลองถูก การทำนาย การบันทึก
ขั้นที่ 6 สร้างชิ้นงานตามความถนัด/ความสนใจ
เป็นขั้นบูรณาการการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง เพราะเป็นขั้นที่ผู้เรียนมีโอกาสแสดงความสนใจ ความถนัด ความเข้าใจเนื้อหาวิชา ความซาบซึ้งและจินตนาการของตนเองออกมาเป็นรูปธรรม ในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ตนเองเลือก เช่น เป็นสิ่งประดิษฐ์ สมุดรวมภาพ ภาพวาด นิทาน บทกวี หรือบทละคร หรือหนังสือ เน้นการใช้สมองซีกขวา
กิจกรรมขั้นนี้เป็นผลมาจากการลงมือปฏิบัติจากขั้นที่ 5 ต้องมีลักษณะที่กระตุ้นหรือส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดรวบยอดไม่มใช่เกิดความจำแต่เพียงอย่างเดียวและในส่วนนี้คือที่สามารถปรากฏเป็นแฟ้มผลงานของผู้เรียน (Portfolio) ได้ ถ้าผู้สอนวางแผนการทำงานล่วงหน้าไว้อย่างดี เด็กสามารถสร้างผลงานได้โดย ผู้สอนไม่ต้องคอยพะวงเรื่องการทำแฟ้มผลงานผู้เรียน
ทักษะที่ใช้ในช่วงนี้ คือ ทักษะการจัดระบบ การจัดลำดับก่อนหลัง การแก้ปัญหา การลงมือทำงาน การสรุป จดบันทึก
ส่วนที่ 4 การบูรณาการการประยุกต์ใช้กับประสบการณ์ของตน
กระบวนการเรียนรู้ในส่วนที่ 4 เกิดจากกิจกรรมของการลงมือกระทำด้วยตนเองจนสำเร็จและไปสู่การรับรู้และ มีความรู้สึกที่ดีเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น บทบาทของครู เป็นผู้ประเมิน/ผู้ซ่อมเสริมรวมทั้งเป็นผู้เรียนร่วมกัน วิธีการ การค้นหาตัวเอง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การแนะนำผู้อื่น ในส่วนนี้แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ขั้น
ขั้นที่ 7 วิเคราะห์ผลและประยุกต์ใช้
เป็นขั้นที่ผู้เรียนได้ชื่นชมกับผลงานของตนเองหรือผู้เรียนสามารถประยุกต์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ไปสู่กิจกรรมอื่น หรือผู้เรียนนำผลงานของตนเองเสนอในกลุ่มย่อยๆ ให้เพื่อนๆ ติชมและปรับปรุงแก้ไข เป็นขั้นที่เน้นการใช้สมองซีกซ้าย
ทักษะที่สำคัญในช่วงนี้ คือ ทักษะการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
ขั้นที่ 8 แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกับผู้อื่น
ในขั้นสุดท้ายนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการค้นคว้าหรือลงมือกระทำกับคนอื่น ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนจะช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นการเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับเรื่องอื่น ๆ ที่อาจพบในสถานการณ์ใหม่ ได้แก่ จัดแสดงนิทรรศการ แสดงผลงานในวันสำคัญ ขั้นนี้เน้นการใช้สมองซีกขวา
ทักษะที่ใช้ในช่วงนี้ คือการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ซึ่งกันและกัน การมองอนาคตตลอดจนการชื่นชมตนเอง
ลักษณะเด่นของรูปแบบ
ผู้เรียนจะสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองในเรื่องที่เรียน จะเกิดความรู้ ความเข้าใจ และนำความรู้ความเข้าใจนั้นไปใช้ได้ และสามารถสร้างผลงานที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง รวมทั้งได้พัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ อีกจำนวนมาก
ดังนั้น ลักษณะเด่นของรูปแบบการจัดกิจกรรมเรียนรู้แบบ 4 MAT จะช่วยส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ตามกรอบความแตกต่างระหว่างบุคคล ได้แก่
1. การนำเสนอประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับผู้เรียน1.1 การเสริมสร้างประสบการณ์ (สมองซีกขวา)1.2 การวิเคราะห์ประสบการณ์ที่ได้รับ (สมองซีกซ้าย)2. การเสนอเนื้อหา สาระข้อมูลแก่ผู้เรียน (Presentation)2.1 การบูรณาการประสบการณ์สร้างความคิดรวบยอด (สมองซีกซ้าย)2.2 การพัฒนาเป็นความคิดรวบยอด (สมองซีกซ้าย)3. การฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาความคิดรวบยอด3.1 ปฏิบัติตามขั้นตอน (สมองซีกซ้าย)3.2 การนำเสนอผลการปฏิบัติงาน (สมองซีกขวา)4. การนำความคิดรวบยอดไปสู่การประยุกต์ใช้ (Application)4.1 การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนางาน (สมองซีกซ้าย)4.2 การนำเสนอผลงานการเผยแพร่ (สมองซีกขวา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น