พื้นฐานของการสอนแบบเน้นกระบวนการคิด
การคิดเป็นกระบวนการทางสมองในการจัดกระทำกับข้อมูล หรือสิ่งเร้าที่รับเข้ามา การคิดเป็นกระบวนการทางสติปัญญาของบุคคล (cognitive process) ที่บุคคลใช้สร้างความหมายความเข้าใจในสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่บุคคลได้รับจากประสบการณ์ การคิดเป็นลักษณะกระบวนการ หรือวิธีการ ไม่ใช่เนื้อหาที่บุคคลหนึ่งสามารถถ่ายทอดให้อีกบุคคลหนึ่งได้โดยง่าย การคิดเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างความหมาย ความเข้าใจในเนื้อหาสาระต่าง ๆ
ดังนั้น การคิดเป็นเรื่องหรืองานเฉพาะตนที่บุคคลเรียนรู้ด้วยการดำเนินการเอง ไม่มีผู้ใดจะทำแทนได้ แต่บุคคลอื่นรวมทั้งสภาพแวดล้อม และประสบการณ์ต่าง ๆ สามารถช่วยกระตุ้นให้บุคคลเกิดการคิดและเกิดการเรียนรู้ การคิดมีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากการคิดเป็นปัจจัยภายในที่สำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการกระทำและการแสดงออกทั้งหลาย
การคิดเป็นกระบวนการทางธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนคิดอยู่ทุกขณะในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง การบอกให้บุคคลคิดจึงเป็นเรื่องที่ยากเช่นเดียวกับการให้คิด โดยทั่วไปการคิดของบุคคลจำแนกได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ การคิดอย่างไม่มีจุดมุ่งหมายหรือทิศทาง กับการคิดอย่างมีจุดมุ่งหมายหรือทิศทาง เป็นการคิดที่กระทำอย่างจงใจ เพื่อให้ได้คำตอบหรือข้อสรุปตามความต้องการ การคิดจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ซึ่งครูต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในผู้เรียน (ทิศนา แขมณี, 2545 : 40)
ความหมายของการสอนเน้นกระบวนการคิด
ความหมายของคำว่า “คิด” ราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 (ราชบัณฑิต, 2546) อ้างใน ณรงค์ กาญจนะ (2553 : 1) ว่าหมายถึงทำให้ปรากฏเป็นรูป หรือประกอบให้เป็นรูปหรือเป็นเรื่องขึ้นในใจ ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2548 : 63) กล่าวว่า การคิดคือ กิจกรรมทางความคิดที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเจอะจง เรารู้ว่ากำลังคิดเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง และสามรถควบคุมให้คิดจนบรรลุเป้าหมายได้ กล่าวคือ การคิดเป็นการจัดการข้อมูลที่สมองได้รับให้อยู่ในรูปแบบเหมาะสม โดยแปลข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ สู่รูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งในขณะใช้ความคิดสมองจะนำเอาข้อมูล ความรู้ อารมณ์ และความต้องการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ได้วางไว้ในสิ่งที่ปรารถนาจะได้รับ เช่น ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในการตอบคำถามหรือการแก้ปัญหา หรือช่วยนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
ณรงค์ กาญจนะ (2553 : 2)สรุปความหมายของการคิดว่า การคิดหมายถึง การทำให้ปรากฏเป็นรูปหรือเป็นเรื่องขึ้นในใจ
ดังนั้นการคิดจึงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองที่ใช้สัญลักษณ์หรือภาพแทนสิ่งของ เหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆโดยมีการจัดระบบความรู้ ข้อมูล ข่าวสารซึ่งเป็นประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่หรือสิ่งเร้าใหม่ ที่ไปได้ ทั้งใน รูปแบบ ธรรมดาและสลับซับซ้อน ผลจากการจัดระบบสามารถ แสดงออกได้หลายลักษณะ เช่น การให้เหตุผลการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพราะฉะนั้นการสอนแบบเน้นกระบวนการคิดจึงเป็นส่วนสำคัญที่สามารถให้นักเรียน เรียนรู้ความรู้โดยผ่านกระบวนการคิดของตนเองเป็นสำคัญ
วัตถุประสงค์ของการสอนเน้นกระบวนการคิด
ความนัยหนึ่งของการสอน คือ การพัฒนาทักษะกระบวนการของผู้เรียน หากคนเราถ้ารู้จักวิธีคิดหรือคิดเป็นก็จะแก้ไขปัญหาหรือดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณค่า มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชน เป็นกำลังของชาติ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ต้องได้รับการฝึกฝนในการคิด จนก่อเป็นทักษะสำหรับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถประกอบอาชีพในอนาคตได้
เฉลิม มลิลา (2526 : 152-153) อ้างใน ณรงค์ กาญจนะ (2553 : 3-4) ความว่าวัตถุประสงค์ในการพัฒนาการคิดของนักเรียน มีดังนี้
1. มุ่งให้นักเรียนรู้จักคิด และคิดเป็น คิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking)
2. มุ่งให้นักเรียนรู้จักฝึกหัดใช้การพิจารณาสังเกตเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ และประสบการณ์เบื้องต้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการสร้างความเข้าใจข้อเท็จจริง และการกำหนดข้อสมมติฐาน ในขั้นต่อไป
3. มุ่งให้นักเรียนรู้จักวิธีการจำแนกองค์ประกอบที่สำคัญ และรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่สำคัญของข้อเท็จจริง ความรู้ และประสบการณ์ซึ่งนำไปสู่การกำหนดความคิดได้อย่างถูกต้อง
4. มุ่งให้นักเรียนรู้จักความคิดอย่างมีระบบในรูปของการสร้างความคิดรอบยอด หรือมโนทัศน์และหลักการ
5. มุ่งให้นัดเรียนรู้จักวิธีการ และฝึกตัดสินใจอย่างมีระบบ โดยอาศัยแนวความคิด และหลักการที่ถูกต้องเหมาะสม
6. มุ่งให้นักเรียนมีความสารถแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนโดยอาศัยหลักการที่ถูกต้องเหมาะสม
7. มุ่งให้นักเรียนสามารถแสดงออกซึ่งแนวความคิด และหลักการสิ่งต่าง ๆ ทั้งเป็นรูปธรรม และนามธรรมได้อย่างถูกต้อง มีเหตุผล
8. มุ่งให้นักเรียนรู้วิธีการวิเคราะห์ข้อเท็จจริง เพื่อสรุปแนวความคิดจำแนกความต่าง
9. มุ่งให้นักเรียนรู้จักวิธีการสังเคราะห์ข้อเท็จจริง เพื่อสรุปแนวความคิด และหลักการ
10. มุ่งให้นักเรียนรู้จักวิธีการประเมินค่าข้อเท็จจริง เพื่อสรุปแนวความคิด และหลักการ
11. มุ่งให้นักเรียนฝึกหัด และมีความคิดสร้างสรรค์
12. มุ่งให้นักเรียนฝึกหัด และค้นพบประสบการณ์ด้วยตนเอง
ดังนั้น สามารถสรุปได้ว่า การพัฒนาความคิดของนักเรียนนั้น มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์หลายประการที่สำคัญ ได้แก่ มุ่งให้นักเรียนรู้จักคิด และคิดเป็น กล่าวคือ นักเรียนได้พัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ และรูปแบบการคิดแบบอื่น ๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจอย่างมีระบบ มีความถูกต้อง นำไปสู่การค้นพบที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทักษะกระบวนการคิดให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนรู้ ดำเนินชีวิตประจำวัน และประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต
ประโยชน์ของการสอนแบบเน้นกระบวนการคิด
ณรงค์ กาญจน (2553 : 4-5) กล่าวถึงประโยชน์ของการสอนเพื่อการพัฒนากระบวนการคิด หรืออีกนัยหนึ่งคือ การสอนเพื่อการพัฒนากระบวนการคิด โดยแบ่งเป็น ประโยชน์ต่อนักเรียน และประโยชน์ต่อครูผู้สอน ดังนี้
ประโยชน์ต่อนักเรียน
1. นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น
2. นักเรียนสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ดี
3. นักเรียนสามารถคิดได้ถูกต้องเหมาะสม ก่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง
4. นักเรียนคิดได้อย่างเป็นระบบ เข้าใจและจำเนื้อหาอย่างเป็นระบบ ทำให้ความรู้คงทน และการเรียนเป็นสิ่งที่ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
ประโยชน์ต่อครู
1. เมื่อนักเรียนมีทักษะการคิด ครูสามารถสอนได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลงในการอธิบายให้นักเรียนเข้าใจ
2. ทำให้บรรยากาศการเรียนน่าสนใจ ปัญหาด้านการจัดชั้นเรียนน้อยลง
3. เมื่อนักเรียนคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ปัญหาด้านพฤติกรรมนักเรียนก็จะมีน้อยทำให้สอนได้อย่างสนุก
4. ครูเหนื่อยน้อยลง ทำให้มีพลังเหลือที่จะพัฒนาและออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
การสอนแบบเน้นกระบวนการคิดมีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งทางคณะผู้จัดทำรายงานได้รวบรวมรูปแบบการสอนแบบเน้นกระบวนการคิดมาหลายรูปแบบ อาทิ รูปแบบ KWL , KWL Plus , KWDL , KWLH , KWLH Plus , 5E และ 7Eรูปแบบวิธีการสอนแบบเน้นกระบวนการคิดเหล่านี้ คณะผู้จัดทำรายงานจะนำเสนอในบทถัดไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น