วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561

การสอนแบบเน้นกระบวนการคิดด้วยเทคนิค KWL Plus

การสอนแบบเน้นกระบวนการคิดด้วยเทคนิค KWL Plus
ในปีค.. 1986 Donna M. Ogle แห่ง National College of Education at Evanston,Illinois (1986: 626-631)อ้างถึงในสุพรรณีสุทธรินทร์(2547: 20) ได้พัฒนาการสอนแบบ KWL Know-Want-Learn (What do I know?What do I want to learn?, What did I learn?) เพื่อใช้ในการสอนอ่านแบบโครงสร้างความเรียงโดยจัดการสอนที่เน้นกิจกรรมการอ่านที่เชื่อมโยงกับทฤษฎีโครงสร้างประสบการณ์เดิมบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่านักเรียนได้เรียนรู้อะไรมาบ้างแล้วก่อนการอ่าน (What do I know?) ด้วยวิธีการวิเคราะห์หัวเรื่องและทำนายเหตุการณ์ของเรื่องก่อนที่จะอ่านโดยให้นักเรียนระดมกำลังสมอง (Brainstorming) ช่วยกันคิดว่านักเรียนต้องการรู้อะไร (What do I want to learn?) ตั้งคำถามตอบคำถามระหว่างการอ่านและถามตัวเองว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้อะไร (What did I learn?) หลังการอ่านซึ่งเป็นวิธีการสอนที่จะช่วยให้ครูค้นหาพื้นฐานความรู้ของนักเรียนที่มีต่อเรื่องที่จะอ่านและโดยสร้างแผนภาพตาราง KWL เพื่อบันทึกรายการข้อมูลความรู้ข้อคำถามลงในแต่ละช่องโดยให้นักเรียนเขียนสิ่งที่นักเรียนต้องการรู้ลงในช่อง W- What we want to know และผลการเรียนรู้ของนักเรียนในช่อง L-What we have learned หลังจากที่นักเรียนอ่านจบ
ต่อมาในปีค.. 1987 Eileen Carr แห่งมหาวิทยาลัย Eastern Michigan University และ Donna M. Ogle ได้พัฒนาการสอนอ่านแบบ KWL Plus ขึ้นด้วยการเพิ่มการทำแผนภูมิบทอ่าน (Mapping Text) และการสรุปข้อความ (Summarizing Information) ซึ่งในส่วนที่เพิ่มนี้เป็นสิ่งที่ช่วยนักเรียนพัฒนาทักษะการถ่ายโอนการเรียนรู้ได้มากขึ้น
1. ความหมายของการจัดการเรียนรู้แบบ KWL Plus
Carr and Ogle (1987 : 626 - 631) อ้างใน วัชรีแก้วสาระ (2555) ให้ความหมายของการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus ไว้ดังนี้
            K (What do I know?) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนตรวจสอบหัวข้อเรื่องว่าตนเองมีความรู้เกี่ยวกับหัวข้อเรื่องมากน้อยเพียงใด เป็นการนำความรู้เดิมมาใช้เพราะการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้พื้นฐาน และประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญในการจัดกิจกรรมก่อนการอ่าน ซึ่งเป็นการเตรียมนักเรียนในการเรียนรู้เนื้อหาใหม่ การบูรณาการระหว่างความรู้พื้นฐานและเรื่องที่นักเรียนจะอ่านช่วยให้นักเรียนสามารถสร้างความหมายของบทอ่านได้ดีและผู้อ่านควรได้รับการกระตุ้นความรู้พื้นฐานให้เหมาะสม ดังนั้นในขั้นตอนนี้ทฤษฎีประสบการณ์เดิมซึ่งเป็นทฤษฎีว่าด้วยหลักการนำความรู้พื้นฐาน ความรู้เดิมและประสบการณ์เดิมมาใช้ในการเรียนการสอน จึงเป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญมาก
W (What do I want to learn?) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนจะต้องถามตนเองว่าต้องการรู้อะไรในเนื้อเรื่องที่จะอ่านบ้าง ซึ่งคำถามที่นักเรียนสร้างขึ้นก่อนการอ่านนี้ เป็นการตั้งเป้าหมายในการอ่านและเป็นการคาดหวังว่าจะพบอะไรในบทอ่านบ้าง
L1 (What did I learn?) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนสำรวจว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรบ้างจากบทอ่าน โดยนักเรียนจะหาคำตอบให้กับคำถามที่ตนเองตั้งไว้ในขั้นตอน W และจดบันทึกสิ่งที่ตนเองเรียนรู้ พร้อมกับสำรวจข้อคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เพื่อค้นหาคำตอบต่อไป
L2 (Mapping) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนนำความรู้ที่ได้จากขั้นตอน K มาจัดกลุ่ม โดยเขียนความคิดหลักไว้ตรงกลาง แล้วแตกสาขาความคิดรอง ความคิดย่อยเพื่ออธิบายเพิ่มเติม
L3 (Summarizing) เป็นขั้นตอนที่นักเรียนสรุปเรื่องราวจากแผนผังความคิดอีกครั้งหนึ่ง
เกียรติชัย ยานะรังษี (2540: 39) กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิค KWL Plus เป็นยุทธวิธีการอ่านเพื่อความเข้าใจ เป็นการสอนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนนำเอาประสบการณ์เดิมมาช่วยในการตีความเนื้อเรื่องที่อ่าน ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการตั้งคำถาม ทำให้ผู้เรียนมีจุดประสงค์ในการอ่าน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนในกลุ่ม
สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ (2545: 88) กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการอ่าน ซึ่งสอดคล้องกับทักษะการคิดอย่างรู้ตัวว่าตนคิดอะไร มีวิธีคิดอย่างไร สามารถตรวจสอบความคิดของตนเองได้ และสามารถปรับเปลี่ยนกลวิธีการคิดของตนได้ โดยผู้เรียนจะได้รับการฝึกให้ตระหนักในกระบวนการทำความเข้าใจตนเอง มีการวางแผน ตั้งจุดมุ่งหมาย ตรวจสอบความเข้าใจของตน มีการจัดระบบข้อมูลเพื่อดึงมาใช้ภายหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฆนัท ธาตุทอง (2551: 234) ได้ให้ความหมายของ การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus ไว้ว่า เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการอ่าน โดยกระบวนการทำความเข้าใจตนเอง มีการวางแผน ตั้งจุดมุ่งหมาย ตรวจสอบความเข้าใจของตนเอง และมีการจัดระบบข้อมูล
จากความหมายข้างต้นจึงสรุปได้ว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus หมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะกระบวนการอ่าน ทักษะการคิดอย่างรู้ตัว การนำประสบการณ์เดิมของผู้เรียนมาช่วยในการตีความเนื้อเรื่อง การมีส่วนร่วมของนักเรียนในการตั้งคำถาม โดยมีขั้นตอนในการสอน ดังนี้
1) กิจกรรมนักเรียนรู้อะไร K (What do I know)
2) กิจกรรมนักเรียนต้องการรู้อะไร W (What do I want to learn)
3) กิจกรรมนักเรียนได้เรียนรู้อะไร L1 (What did I learn)
4) กิจกรรมสร้างเป็นแผนภูมิรูปภาพความคิด L2 (Mapping)
5) กิจกรรมการสรุปเรื่อง L3 (Summarizing) เพื่อสรุปเรื่องราวต่าง ๆ ที่เรียนอีกครั้งหนึ่ง 
2. วัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้แบบ KWL Plus
KWL Plus เป็นเทคนิควิธีสอนหนึ่งที่มีเป้าหมายในการนำมาใช้ตามแนวคิดของนักการศึกษา ดังต่อไปนี้
Martini (2003) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus ดังนี้
1)ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้แบบร่วมมือและทำงานเป็นทีม
2)เพื่อเก็บชิ้นงานจากแผนภาพตาราง KWL มาเป็นข้อมูลสำหรับครูในการช่วยเหลือการเรียนรู้ของนักเรียน
3)เพื่อให้นักเรียนเรียนเป็นรายบุคคลโดยใช้ชิ้นงานในการประเมินพัฒนาการของนักเรียน
นอกจากนี้ Conner (2004), วิไลวรรณ สวัสดิวงศ์ (2547: 74) และวัชรา เล่าเรียนดี (2547: 145) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus ไว้สอดคล้องกันดังนี้
1)เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการอ่านอย่างกระตือรือร้น เป็นการอ่านที่ฝึกการถามตนเองและการใช้ความคิด และคิดในเรื่องที่อ่านเป็นสำคัญ
2)สามารถพัฒนาสมรรถภาพในการกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการอ่าน สรุปสาระสำคัญจากเรื่องที่อ่าน จัดการกับสาระความรู้ขึ้นใหม่ตามความเข้าใจของตนเอง โดยการใช้แผนผังมโนทัศน์หรือแผนผังความคิด และเขียนสรุปเรื่องที่อ่านจากแผนผังนั้น
3)ส่งเสริมและพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้กับผู้เรียนได้
4) ฝึกการระดมสมองโดยมีกรอบในการร่วมกันคิด
ฆนัท ธาตุทอง (2551: 235) และสุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ (2545: 88) ได้กล่าวไว้สอดคล้องกันว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกให้ผู้เรียนมีความตระหนักในกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง โดยมีการวางแผน ตั้งจุดมุ่งหมาย ตรวจสอบความเข้าใจของตนเอง ตลอดจนมีการจัดระบบข้อมูลความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้แบบ KWL Plus
วิไลวรรณ สวัสดิวงศ์ (2547: 75) อ้างถึงในCarr and Ogle (2004)ที่ได้เสนอขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้แบบ KWL Plusไว้ดังนี้ 
3.1ขั้น K (What do I know)
ขั้นตอนนี้ก่อนที่นักเรียนจะอ่านเรื่อง ครูอธิบายความคิดรวบยอดของเรื่องและกำหนดคำถามโดยครูกระตุ้นหรือถามให้นักเรียนได้ระดมสมอง (Brainstorms) เกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนรู้แล้วและนำข้อมูลที่ได้มาจำแนก แล้วเขียนคำตอบของนักเรียนในแผนภูมิรูปภาพช่อง K (What do I know) หลังจากนั้นนักเรียนและครูร่วมกันจัดประเภทความรู้ที่คาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นในเรื่องที่จะอ่าน 
3.2ขั้น W (What do I want to learn)
ในขั้นตอนนี้นักเรียนค้นหาความจริงจากคำถามในสิ่งที่สนใจอยากรู้ หรือคำถามที่ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับความคิดรวบยอดของเรื่อง พร้อมทั้งให้นักเรียนเขียนรายการคำถามที่ตั้งไว้ ในระหว่างอ่านนักเรียนสามารถเพิ่มคำถามและคำตอบในกลุ่มของตัวเองได้
3.3 ขั้น L1 (What did I learn)
ในขั้นตอนนี้นักเรียนบันทึกความรู้ที่ได้ระหว่างการอ่านและหลังการอ่าน ลงในช่อง L (What did I learn) พร้อมทั้งตรวจสอบคำถามที่ยังไม่ได้ตอบ 
3.4ขั้น L2 (Mapping)
นักเรียนนำข้อมูลที่ได้จัดประเภทไว้ในขั้นตอน K(What do I know) เขียนชื่อเรื่องไว้ในตำแหน่งตรงกลางและเขียนองค์ประกอบหลักของแต่ละหัวข้อ พร้อมทั้งเขียนอธิบายเพิ่มเติมในแต่ละประเด็น 
3.5ขั้น L3 (Summarizing)
ขั้นตอนนี้นักเรียนช่วยกันสรุปและเขียนสรุปความคิดรวบยอดจากแผนภูมิความคิดซึ่งการเขียนในขั้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อครูและนักเรียนในการประเมินความเข้าใจของนักเรียน
4. บทบาทของครูในการจัดการเรียนรู้แบบ KWL Plus
วิไลวรรณ สวัสดิวงศ์ (2547: 77 - 78อ้างถึงในCarr and Ogle (1987ได้กล่าวถึงการนำเทคนิค KWL Plus มาใช้เป็นกลวิธีในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์โดยผ่านการอ่าน ดังต่อไปนี้
4.1 เลือกเรื่องหรือบทความที่เหมาะสมกับระดับชั้นและระดับความสามารถในการอ่านตามวัยของนักเรียน
4.2 สร้างแผนภูมิภาพ KWL (KWL- chart) บนกระดานและสร้างใบงานสำหรับนักเรียนดังตาราง
K
(นักเรียนรู้อะไรบ้าง)
W
(นักเรียนต้องการรู้อะไร)
L
(นักเรียนได้เรียนรู้อะไร)




แผนผังมโนทัศน์


ในการดำเนินการสอนนั้นครูจะต้องกระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิด ระดมพลังสมอง (Brainstorm) แลกเปลี่ยนความรู้เพื่อดึงดูดความรู้ทั้งหมดของนักเรียนเกี่ยวกับหัวข้อที่จะอ่าน  โดยครูใช้คำถามตะล่อม(Prompting) กระตุ้นนักเรียนเพื่อให้อธิบายเหตุผลที่นักเรียนมีความคิดเช่นนั้น บันทึกสิ่งที่นักเรียนเรียนรู้ในช่อง K (What do I know?) และแนะนำนักเรียนเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่ของข้อมูลที่คาดว่าจะใช้
4.3แนะนำนักเรียนเกี่ยวกับการตั้งคำถามเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ต้องการจากการอ่าน นำคำถามที่ตั้งไว้ใส่ลงในช่อง W (What do I want to learn?) คำถามเหล่านี้อาจได้มาจากการอภิปรายหรือการระดมความคิด คำถามควรมีหลากหลายเพื่อพัฒนาการคิด การจัดประเภทองค์ประกอบหลักของข้อมูลที่คาดการณ์ไว้จะเป็นการช่วยให้นักเรียนมีวัตถุประสงค์ในการอ่าน
4.4ในขณะอ่านกระตุ้นนักเรียนให้แสวงหาคำตอบจากคำถามที่ตั้งไว้ แสวงหาข้อมูลใหม่เพิ่มเติมและเพิ่มคำถาม
4.5หลังจากอ่านเรื่องหรือบทความ ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้อภิปรายผลการเรียนรู้ที่ได้จากการอ่านและเขียนลงในช่อง L (What did I learn?) บันทึกแนวคิด ความรู้ที่พบว่าน่าสนใจจากการอ่าน สำหรับคำถามบางคำถามที่ยังหาคำตอบที่ได้จากการอ่านครั้งนี้ ครูควรแนะนำแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมแก่นักเรียน
4.6สร้างแผนภาพความคิด ให้นักเรียนจัดประเภทของข้อมูลที่ได้บันทึกไว้ในช่อง L (What did I learn?) และถามคำถามเพื่อให้นักเรียนได้บรรยายความคิด สร้างแผนภาพความคิดข้อมูลที่มีความสำคัญที่ได้จากเรื่องที่อ่าน
4.7แนะนำนักเรียนในการสรุป การเลือกข้อมูลและการจัดระบบข้อมูล ครูควรแนะนำนักเรียนให้ใช้โครงร่างข้อมูลจากแผนภาพความคิด เพื่อช่วยให้นักเรียนสรุปข้อมูลได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นและให้นักเรียนเขียนรายละเอียดเฉพาะที่เป็นใจความหลักเพื่อขยายหัวข้อในแต่ละประเภท
จากที่กล่าวมาจึงสามารถสรุปบทบาทหน้าที่ของครูและนักเรียนได้ดังตาราง
ขั้น
บทบาทครู
บทบาทนักเรียน
K
ครูเลือกเรื่องหรือบทความที่เหมาะสมกับระดับชั้นและระดับความสามารถในการอ่าน
ตามวัยของนักเรียน กระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิด โดยใช้คำถามตะล่อมเพื่อให้นักเรียน
อธิบายเหตุผลและแนะนำนักเรียนเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่ของข้อมูลที่คาดว่าจะใช้
- ตอบคำถาม และบันทึกสิ่งที่นักเรียนรู้
ในช่อง K (What do I know)
W
แนะนำนักเรียนเกี่ยวกับการตั้งคำถามเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ต้องการจากการอ่าน
กระตุ้นให้นักเรียนแสวงหาคำตอบจากคำถามที่ตั้งไว้ในขณะอ่าน
อภิปรายและระดมความคิด เขียนคำถามที่ตั้งไว้ลงในช่อง W (What do Iwant to learn?)
อ่านเรื่องหรือบทความและตอบคำถามที่ตั้งไว้ รวมทั้งเพิ่มเติมคำ ถามในประเด็นที่ต้องการรู้
L
ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้อภิปรายผลการเรียนรู้ที่ได้จากการอ่าน
ครูแนะนำแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมแก่นักเรียนในส่วนที่นักเรียนยังหาคำตอบไม่ได้

อภิปราย และเขียนบันทึกแนวคิดความรู้ที่พบว่าน่าสนใจจากการอ่านลงในช่อง L (What did I learn)
ค้นคว้าเพิ่มเติมคำถามบางคำถามที่ยัง
หาคำตอบไม่ได้จากการอ่านครั้งนี้
Plus
ทบทวนรูปแบบการเขียนแผนผังมโนทัศน์โดยให้นักเรียนช่วยกันเลือกรูปแบบที่เหมาะสมในการสรุปเรื่องที่อ่าน

สร้างแผนผังมโนทัศน์ โดยเลือกข้อมูลสำคัญที่ได้จากเรื่องที่อ่าน
สรุปข้อมูลโดยใช้โครงร่างข้อมูลจากแผนผังมโนทัศน์ เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยเขียนรายละเอียดเฉพาะที่เป็นใจความหลักเพื่อขยายหัวข้อในแต่ละประเภท

5. ข้อดี ข้อด้อย  
5.1 ข้อดี
5.1.1การจัดการเรียนการสอนด้วย KWL Plus เป็นการสอนที่เน้นทักษะกระบวนการอ่าน โดยนำความรู้เดิมมาเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ครูผู้สอนจึงควรนำวิธีการสอนดังกล่าวไปใช้ในการจัดการเรียนสอน เพื่อสลับปรับเปลี่ยนกับการสอนแบบเดิมๆ และสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในการเรียนรู้ได้
            5.1.2การจัดการเรียนรู้ด้วย KWL Plus ที่เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม ทำให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอย่างทั่วถึง ได้ฝึกความคิดอย่างอิสระ ส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มที่ประกอบไปด้วยนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง กลาง และต่ำ ได้ช่วยเหลือกัน และ ทำหน้าที่แทนครูผู้สอน อันเป็นการทบทวนความรู้เดิมของตัวเอง การฝึกฝนซ้ำๆ ในแต่ละขั้นตอนช่วยให้นักเรียนมีความมั่นใจในการแสดงพฤติกรรม ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีความหมาย และมีความสุขกับการเรียน เพราะผู้เรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ที่ได้จากการอภิปรายเพื่อระดมความคิดนำเสนอผลงานให้เพื่อนๆ ในห้องเรียน ทำให้ผู้เรียนได้แสดงออกตามความสามารถ ได้พัฒนาทักษะทางสมอง
5.2 ข้อด้อย
          5.2.1ครูผู้สอนจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการเตรียมตัว  เนื่องจากจะต้องทำการทดสอบผู้เรียนก่อนว่ามีความรู้  ความเข้าใจ  หรือมีประสบการณ์ในเรื่องที่จะเรียนมากน้อยเพียงใด  หากผู้เรียนไม่มีความรู้  ความเข้าใจ  หรือมีประสบการณ์ในเรื่องที่จะเรียนเลย  ครูผู้สอนเองก็จำเป็นทำการสอนให้ผู้เรียนได้เข้าใจเนื้อหาโดยคร่าวๆ ก่อน
            5.2.2การจัดการเรียนรู้ด้วย KWL Plus ที่เน้นกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม  ในห้องเรียนจะต้องมีนักเรียนอย่างน้อย 20 คน  จึงจะสามารถทำให้การจัดการเรียนรู้ด้วยวิธีนี้มีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โมเดลการทำความเข้าใจ

สรุป          จากภาพแสดงให้เห็นว่าความสำคัญของสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพโดยการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติตนในทางที่ดีคือการเ...