วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2561

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ(Cooperative Learning)


การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ(Cooperative Learning) หมายถึง กิจกรรมการเรียนการสอนที่แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ส่งเสริมให้นักเรียนทำงานร่วมกัน โดยในกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกที่มีความสามารถแตกต่างกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน และมีความรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งในส่วนตนและส่วนรวม เพื่อให้ตนเองและสมาชิกทุกคนในกลุ่มประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือมีข้อดีหลายประการ อาทิ
  •  ช่วยพัฒนาความเชื่อมั่นของนักเรียน
  • ช่วยพัฒนาความคิดของนักเรียน
  •  ช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
  •  ช่วยส่งเสริมบรรยากาศในการเรียน
  • ส่งเสริมทักษะการทำงานร่วมกัน
  •  ทำให้นักเรียนมีวิสัยทัศน์หรือมุมมองกว้างขึ้น
  •  ช่วยการปรับตัวในสังคมดีขึ้น

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ มีรูปแบบอย่างหลากหลาย ดังต่อไปนี้
            1.คิดและคุยกัน(Think Pairs Share) , เพื่อนเรียน(Partners) , ผลัดกันพูด(Say and Switch)
ทั้ง 3 รูปแบบเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่คล้ายคลึงกัน ให้นักเรียนจับคู่กันในการตอบคำถาม อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์ หรือทำความเข้าใจเนื้อหาที่เป็นความคิดรวบยอดที่กำหนดให้
            2.กิจกรรมโต๊ะกลม(Roundtable หรือ Roundrobin)
เป็นรูปแบบการสอนที่จัดกลุ่มนักเรียนที่มีจำนวนมากกว่า 2 คนขึ้นไป เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคน เขียนความคิดเห็นของตน บอกเล่าประสบการณ์ความรู้ หรือสิ่งที่ตนกำลังศึกษาให้เพื่อนคนที่อยู่ถัดไปโดยเวียนไปทางด้านใดด้านหนึ่ง สมาชิกทุกคนจะใช้เวลาเท่าๆกันหรือใกล้เคียง
            3.คู่ตรวจสอบ(Pairs Check) , มุมสนทนา(Corners) , ร่วมกันคิด(Numbered Heads together)
เป็นรูปแบบการสอนที่คล้ายคลึงกัน คือ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ให้ช่วยกันตอบคำถาม แก้โจทย์ปัญหา หรือทำแบบฝึกหัด เมื่อสมาชิกทุกคนในกลุ่มย่อยสามารถตอบปัญหา หรือแก้โจทย์ได้แล้ว ให้แลกเปลี่ยนกันตรวจสอบคำตอบ โดยการจับคู่ตรวจสอบ หรือจัดมุมสนทนา
            4.การสัมภาษณ์แบบสามขั้นตอน(Three Step Interview)
รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบนี้มี 3 ขั้นตอน โดยครูกำหนดคำถามหรือประเด็นโจทย์ปัญหาให้นักเรียนตอบ มีหลักการดังนี้
- นักเรียนจับคู่กัน คนที่ 1 เป็นผู้สัมภาษณ์โดยถามคำถามให้คนที่ 2 เป็นผู้ตอบ
- นักเรียนสลับบทบาทกัน จากผู้ถามเป็นผู้ตอบ และจากผู้ตอบเป็นผู้ถาม
- นักเรียนในแต่ละกลุ่มย่อย ผลัดกันเล่า สิ่งที่ตนรู้จากคู่ของตน ให้กลุ่มทราบ
            5.การแข่งขันระหว่างกลุ่มด้วยเกม(Team Games Tournament หรือ TGT) , การแบ่งกลุ่มสัมฤทธิ์(Student Team Achievement Division หรือ STAD)
เป็นรูปแบบการสอนที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนคล้ายคลึงกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
  •  การนำเสนอบทเรียน(Class Presentation)
  •  การจัดทีม(Team)
  •  การแข่งขัน/การทดสอบ(TGTใช้การแข่งขัน ส่วน STADใช้การทดสอบ)
  •  การยอมรับความสำเร็จของทีม(Team Recognition)
            6.ปริศนาความรู้(Jigsaw)
เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ทุกกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้ทำกิจกรรมเดียวกันโดยครูผู้สอนแบ่งเนื้อหาของเรื่องที่จะเรียน ออกเป็นหัวข้อย่อยเท่าจำนวนสมาชิกแต่ละกลุ่ม และมอบหมายให้นักเรียนแต่ละคนในกลุ่มค้นคว้าคนละหัวข้อย่อย โดยนักเรียนแต่ละคนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ที่ตนได้รับมอบหมายจากกลุ่ม สมาชิกต่างกลุ่มที่ได้รับมอบหมายในหัวข้อเดียวกันจะร่วมกันศึกษา จากนั้นแต่ละคนจะกลับเข้ากลุ่มเดิมของตน เพื่ออธิบายหัวข้อที่ตนศึกษาให้เพื่อนร่วมกลุ่มฟัง
            7.การสืบสอบเป็นกลุ่ม(Group Investigation)
เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นบรรยากาศการทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ ที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างเหมาะสม กล่าวคือ สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มจะเลือกหัวข้อย่อย และเลือกวิธีการแสวงหาคำตอบในเรื่องนั้นๆด้วยตัวเอง หลังจากนั้นสมาชิกแต่ละคน จะรายงานความก้าวหน้าและผลการทำงานให้กลุ่มตนเองทราบ
            8.การเรียนรู้เป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือเพื่อนเป็นรายบุคคล(Team Assisted Individualization หรือ TAI)
เป็นการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างการจัดการเรียนแบบร่วมมือ และการเรียนการสอนแบบรายบุคคลเข้าด้วยกัน เน้นการสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสามารถ ส่งเสริมความร่วมมือภายในกลุ่ม มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
            9.การเรียนรู้แบบร่วมมือผสมผสานการอ่านและการเขียน(Cooperative Integrated Reading and Composition หรือ CIRC)
เป็นรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่มีองค์ประกอบน่าสนใจ ได้แก่ การสร้างกลุ่มอ่าน การจัดกลุ่มย่อย กิจกรรมการอ่านพื้นฐาน การหาเพื่อนช่วยตรวจสอบ การทดสอบ การสอนอ่าน การสอนเขียน เป็นต้น

รูปแบบจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ สามารถจัดได้อย่างหลากหลาย แต่ทุกแบบมีลักษณะร่วมกัน คือ แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆประมาณ 2-6 คน โดยสมาชิกทุกคนช่วยเหลือกัน มีการฝึกฝนการทำงานกลุ่ม กระบวนการกลุ่ม และการประเมินผลเป็นรายบุคคล

นอกจากนี้ ยังพบว่าไม่มีรูปแบบการเรียนการสอนแบบร่วมมือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งสามารถใช้ได้กับบทเรียนได้ทุกลักษณะ ในการเรียนการสอนเนื้อหาในบทหนึ่งๆ ครูผู้สอนอาจจะต้องใช้รูปแบบมากกว่าหนึ่งรูปแบบมาผสมผสาน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
หนังสืออ้างอิง
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. 2543. เอกสารชุดเทคนิคการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ. โรงพิมพ์การศาสนา กรมศาสนา.กรุงเทพฯ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โมเดลการทำความเข้าใจ

สรุป          จากภาพแสดงให้เห็นว่าความสำคัญของสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพโดยการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติตนในทางที่ดีคือการเ...